ในบรรดาวิชาชีพชั้นสูงต่าง ๆ
ในสังคมล้วนแต่มีสถาบันวิชาชีพเป็นองค์กรพิทักษ์สิทธิผลประโยชน์และส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของสมาชิก
สำหรับวิชาชีพครูในปัจจุบันนี้
“คุรุสภา”เป็นสถาบันหลักของผู้ประกอบวิชาชีพครูนอกจากนี้ยังได้มีการรวมตัวก่อตั้งในรูปของ
สมาคม ชมรม สภา และกลุ่มต่าง ๆ เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนความรู้
และพิทักษ์ผลประโยชน์ของสมาชิกในกลุ่ม เพื่อให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น ขอสรุปความหมายของคำว่า
สถาบันและสมาคมวิชาชีพครู ดังนี้
ความหมายของสถาบันและสมาคมวิชาชีพครู
คำว่า “สถาบัน” ตามที่อธิบายไว้ในหนังสือDictionary
of Modem Sociologyหมายถึงกระบวนการหรือการรวมกลุ่มในลักษณะดังนี้
1. มีการจัดระเบียบอย่างดี
เช่น มีการกำหนดบทบาทและความสำพันธ์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
2. มีระบบ เช่น
มีการกำหนดว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องทำอย่างไร
3. มีเสถียรภาพหรือความมั่นคง
โดยมีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงยาก และไม่ขึ้นอยู่กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ ( Hoult.
1972 : 16 – 166 )
ส่วนในหนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พุทธศักราช 2525 อธิบายว่า “สถาบัน”เป็นสิ่งที่คนในส่วนรวมคือสังคมจัดตั้งให้มีขึ้น
เพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการและจำเป็นแก่วิถีชีวิตของตน เช่น สถาบันครอบครัว
สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา สถาบันการเมือง (ราชบัณฑิตยสถาน. 2525 : 767)
นอกจากนี้ ประสาท หลักศิลา
ได้ให้ความหมายของ “สถาบัน” ว่าเป็นระบบทางสังคมอย่างหนึ่ง หมายถึงความสัมพันธ์ของพฤติกรรมต่าง ๆ
ที่มาประกอบกันเป็นสถาบันนั้นและคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมหนึ่ง ๆ
ยอมรับปฏิบัติกันเช่นนั้น (ประสาท หลักศิลา. 2515 : 107)
ความหมายของ“สถาบัน” ตามที่กล่าวมานี้
สามารถสรุปได้ความว่า สิ่งที่จะเรียกว่าเป็นสถาบันได้นั้นจะต้อง
1. เป็นสิ่งที่บุคคลในสังคมนั้น
ๆ เป็นผู้จัดตั้งขึ้น
2. มีการจัดระเบียบอย่างเป็นระบบ
3. มีความมั่นคงถาวร
มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงยาก
4. สนองความต้องการและความจำเป็นแก่ชีวิตของสมาชิกในสังคมนั้น
ถ้าเป็นสถาบันสังคม
หมายถึงกลุ่มหรือแบบอย่างการกระทำซึ่งบุคคลในสังคมได้จัดดังขึ้นอย่างมีระเบียบ
เป็นระบบ ทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการและหรือควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมนั้น
เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา และสถาบันการศึกษา เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึง “สถาบันวิชาชีพครู”จึงหมายถึง “องค์กรซึ่งบุคคลในอาชีพครูได้จัดตั้งขึ้นอย่างมีระเบียบ เป็นระบบ
และมีความมั่นคงถาวร
ทั้งนี้เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์สนองความต้องการและการดำเนินงานของผู้ประกอบวิชาชีพครู”
ส่วนคำว่า “สมาคม”นั้น
อาจมีความหมายได้ดังนี้
- การประชุม
- การเข้าร่วมพวกร่วมคณะ
- การคบค้า
- แหล่งหรือที่ประชุมของบุคคลหลายคนมารวมกันด้วยมีจุดประสงค์เพื่อประโยชน์บางประการ
(ราชบัณฑิตยสถาน. 2525 : 774)
ในที่นี้เน้นความหมายในลักษณะที่เป็น “แหล่งหรือที่ประชุมของบุคคลหลายคนมารวมกันด้วยมีจุดประสงค์เพื่อประโยชน์บางประการ”
ความหมายนี้มีลักษณะเช่นเดียวกับความหมายของ“ชมรม”
ซึ่งหมายถึง“ กลุ่มหรือบุคคลที่มีจุดประสงค์เพื่อประโยชน์บางปะการร่วมกัน”
ดังนั้นเมื่อเป็น สมาคม/ชมรมวิชาชีพครู จึงหมายถึง
แหล่งหรือที่ประชุมของผู้ประกอบวิชาชีพครู
ซึ่งได้รวมพวกรวมหมู่กันด้วยมีจุดประสงค์เพื่อประโยชน์บางประการ เช่น
สมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทย สมาคมผู้บริหารการศึกษาแห่งประเทศไทย สมาคมครู
โรงเรียนราษฎร์แห่งประเทศไทย สมาคมนักฝึกหัดครู
และสมาคมศึกษาธิการแห้งประเทศได้เป็นต้น
ประวัติความเป็นมาของสถาบันวิชาชีพครู
สถาบันวิชาชีพครูที่จะกล่าวในที่นี้คือ “คุรุสภา” คุรุสภามีประวัติความเป็นมายาวนานพอสมควร ดังนั้น จะได้กล่าวเพียงย่อ ๆ และจะแบ่งประวัติความเป็นมาของคุรุสภาออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน คือ คุรุสภาในอดีต คุรุสภาในปัจจุบัน และแนวโน้มของคุรุสภาในอนาคต (ยนต์ ชุ่มจิต 2539 : 238 – 241)
คุรุสภาในอดีต
หลังจากได้มีการตั้งกระทรวงธรรมการขึ้นในปี พ.ศ. 2453 แล้ว การศึกษาของชาติได้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่าง ๆ เมื่อเป็นดังนี้ ความต้องการครูที่มีความรู้ความสามารถในทางการสอนก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย แต่ทว่าในสมัยนั้น มีครูที่มีความรู้ทางวิชาการศึกษา (วิชาชีพครู) ไม่มากนัก จึงจำเป็นต้องมีการอบรมหรือประชุมครูขึ้นครั้งแรกที่ “วิทยาทาสถาน” ใน พ.ศ. 2438 ผู้อบรมครูคนแรก คือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ซึ่งขณะนั้นยังเป็น นายสนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา
ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2443 ได้มีการจัดตั้ง “สภาไทยาจารย์” เพื่อเป็นที่อบรมและประชุมครูขึ้นที่วัดใหม่วินัยชำนาญ (วัดเทพพลู) บางกอกน้อย ธนบุรี และในปลายปีคือเดือนพฤศจิกายน ได้มีการออกหนังสือพิมพ์ของครูเล่มแรก คือ “วิทยาจารย์”
ปี พ.ศ. 2445 กรมศึกษาธิการได้จัดตั้ง “สามัคยาจารย์สโมสรสถาน” ขึ้นที่โรงเรียนทวีธาภิเศก บริเวณวัดอรุณราชวราราม ธนบุรี มีเจ้าพระยาเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) เป็นสภานายกคนแรกต่อจากนั้นได้มีการย้ายสามัคยาจารย์สโมสรไปอยู่ที่โรงเรียนมัธยมวัดราชบูรณะ พระนคร (โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย)
วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2447 กรมศึกษาธิการได้จัดตั้งสถานที่อบรมและประชุมครูแห่งนี้ขึ้นเป็นรูปสมาคมชื่อ “สามัคยาจารย์สมาคม” โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ
1. เพื่อให้สมาคมนี้เป็นบ่อเกิดแห่งศิลปวิทยา
2. เพื่อให้สมาคมนี้เป็นที่ประชุมผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่น้อย ผู้เป็นเพื่อนข้าราชการทั่วไป
3. เพื่อให้สมาคมนี้เป็นที่ประชุมกระทำความบันเทิงทั้งใจและกายในที่ชอบและเป็นคุณประโยชน์
ใน พ.ศ.2448 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงรับสามัคยาจารย์สมาคมเข้าไว้ในพระบรมราชูปถัมย์ ต่อแต่นั้นมากิจการของสมาคมก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กรุงเทพมหานครได้รับภัยทางอากาศหลายครั้ง สมาคมได้อพยพวัสดุสิ่งของออกไปไว้นอกเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2488 เมื่อสงครามสงบลง ได้มีการจัดตั้ง “คุรุสภา” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2488 และทรัพย์สมบัติของสามัคยาจารย์สมาคมก็ได้นำมารวมกับคุรุสภา (วันที่ 16 มกราคม ของทุกปีเป็นวันครู)
การจัดตั้งคุรุสภาขึ้นนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช 2488 โดยมีวัตถุประสงค์และอำนาจกว้างขวางมากกว่าสามัคยาจารย์สมาคม กล่าวคือ คุรุสภามีอำนาจหน้าที่ดังนี้
1. รับปรึกษาและให้ความเห็นแก่กระทรวงศึกษาธิการในเรื่องนโยบายการศึกษาทั่วไป
2. ให้ความเห็นแก่กระทรวงศึกษาธิการในเรื่องหลักสูตร แบบเรียน การสอน การอบรม การสอบไล่ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษา
3. ควบคุมและสอดส่องจรรยามารยาทและวินัยของครู พิจารณาโทษครูผู้ประพฤติผิดตลอดจนพิจารณาคำร้องทุกข์ของครู
4. รักษาผลประโยชน์ของครูและส่งเสริมในฐานะของครูเป็นที่มั่นคง
5. หาทางให้ครูหรือครอบครัวของครูได้รับการช่วยเหลือและอุปการะตามสมควร
6. ส่งเสริมฐานะของครูในทางความรู้ ความประพฤติ ความสามัคคี และความเป็นอยู่ของครู โดยจัดให้มีการอบรม ปาฐกถา การเผยแพร่ความรู้ การสโมสรและอื่น ๆ
7. ปฏิบัติการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนแทนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และแต่งตั้งอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนต่าง ๆ แล้วแต่กรณีสำหรับ ข้าราชการครู
คุรุสภาในปัจจุบัน
นับตั้งแต่ได้มีการจัดตั้งคุรุสภาขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2488 คุรุสภาได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนในด้านต่าง ๆ หลายครั้งหลายคราว ทั้งในด้านอำนาจหน้าที่ โครงสร้างเละระบบการบริหารงาน ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัย ดังจะเห็นได้จากการที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติครู พ.ศ. 2488 ฉบับต่าง ๆ เช่น ฉบับที่ 2 (2495)
ฉบับที่ 4 (2519) ฉบับที่ 5 (2521) และการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือ ในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2523 ซึ่งได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูขึ้น โดยแยกงานการบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูออกจาก ก.พ. และคุรุสภา ทำให้เกิดมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอำนาจหน้าที่และโครงสร้างและระบบการบริหารงานของคุรุสภาเป็นอย่างในปัจจุบันดังนี้
1. อำนาจหน้าที่ของคุรุสภา
ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติครู พ.ศ. 2488 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 6 พ.ศ. 2523 กำหนดให้คุรุสภามีอำนาจหน้าที่ดังนี้
1) ให้ความเห็นแก่กระทรวงศึกษาธิการในเรื่องการจัดการศึกษาโดยทั่วไป หลักสูตร
แบบเรียน อุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน การฝึกอบรม การวัดผลและประเมิน ผลการศึกษา การนิเทศการศึกษา และเรื่องอื่นที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการจัดการศึกษา
2) ควบคุม และสอดส่องจรรยามารยาทและวินัยของครูพิจารณาโทษครูผู้ประพฤติผิดและพิจารณาคำร้องทุกข์ของครู
3) พิทักษ์สิทธิของครูภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด
4) ส่งเสริมให้ครูได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ตามสมควร
5) พัฒนาความรู้ ความสามารถ คุณภาพ และประสิทธิภาพของครู
2. รายได้ของคุรุสภา
ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติครู พ.ศ. 2488 มาตรา 5 ได้กำหนดที่มาของรายได้
ของคุรุสภาไว้ดังนี้
1) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน
2) เงินค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ
3) เงินผลประโยชน์ต่าง ๆ จากการลงทุนและการจัดตั้งองค์การจัดหาผลประโยชน์ของคุรุสภา
4) เงินและทรัพย์สินอย่างอื่น ๆ ซึ่งบุคคลอุทิศให้คุรุสภาและภายใต้บังคับแห่งเงื่อนไข ข้อบังคับหรือวัตถุประสงค์ซึ่งผู้อุทิศกำหนดไว้ให้คุรุสภารักษาและจัดการตามที่เห็นสมควรแก่ประโยชน์แห่งคุรุสภา
3. สมาชิกคุรุสภา
ผู้มีสิทธิเป็นสมาชิกคุรุสภา คือ บุคคลดังต่อไปนี้
1) กรรมการอำนวยการคุรุสภา
2) ข้าราชการครู
3) พนักงานครูเทศบาล
4) ข้าราชการครู กรุงเทพมหานคร
5) ครูโรงเรียนเอกชน
6) พนักงานเทศบาล ซึ่งดำรงตำแหน่งอันเกี่ยวกับการให้การศึกษา
7) ผู้ที่เคยเป็นครูและออกจากตำแหน่งโดยไม่มีความผิ ด
8) ผู้ที่มีพื้นความรู้ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนราษฎร์
9) ผู้ที่มีความรู้ไม่ต่ำกว่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช 2524 หรือเทียบเท่า
พระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 มาตรา 12 กำหนดให้สมาชิกคุรุสภามี 3 ประเภทคือ
1. สมาชิกสามัญ
2. สมาชิกวิสามัญ
3. สมาชิกสมทบ
คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา อาจแต่งตั้งผู้หนึ่งผู้ใดให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของคุรุสภา
ก็ได้
สำหรับสมาชิกกิตติมศักดิ์นั้น ในปีพุทธศักราช 2532 คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์อย่างไรก็ตาม ในอดีตนั้นคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาได้แต่งตั้งสมาชิกกิตติมศักดิ์มาเพียง 3 คน คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ และจอมพลถนอม กิตติขจร
คุณสมบัติของสมาชิกประเภทสามัญ
มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 กำหนดไว้ว่าสมาชิกสามัญต้องมีพื้นความรู้และอยู่ในเงื่อนไขต่อไปนี้
1. ได้ประกาศนียบัตรวิชาครูหรือสำเร็จชั้นอุดมศึกษาและ
2. มีอาชีพเป็นครูสอนในสถานศึกษาที่มีอยู่ในควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ หรือได้มีอาชีพเป็น
ครูสอนในสถานศึกษาดังกล่าวแล้ว เป็นเวลารวมกันไม่น้อยกว่ายี่สิบปี และออกจากตำแหน่งโดยไม่มีความผิด การเป็นครูดังกล่าวนี้จะต้องได้รับเงินเดือนตลอดปีติดต่อกันไม่ใช่รับแต่เฉพาะเดือนที่มีการสอนไม่ติดต่อกันตลอดปี
สมาชิกร้อยละ 95 ของคุรุสภาเป็นสมาชิกสามัญ มาตรา 17 กำหนดให้กรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นสมาชิกสามัญ แม้จะพ้นจากตำแหน่งแล้วก็ตาม
คุณสมบัติของสมาชิกประเภทวิสามัญ
มาตรา 15 กำหนดให้สมาชิกวิสามัญ ต้องมีความรู้ในการเป็นครูตามกฎหมายว่าด้วยประถมศึกษาหรือกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนราษฎร์และต้องอยู่ในเงื่อนไขมาตรา 14 (2)
เมื่อสมาชิกวิสามัญผู้ใดมีพื้นความรู้ตามมาตรา 14 (1) ให้สมาชิกวิสามัญ ผู้นั้นเป็นสมาชิกสามัญและจะต้องแจ้งให้คุรุสภาทราบ สมาชิกวิสามัญส่วนใหญ่จะอยู่สถานศึกษาเอกชน
คุณสมบัติของสมาชิกสมทบ
ผู้สมัครเป็นสมาชิกสมทบต้องมีพื้นความรู้ตามมาตรา 14 (1) หรือ มาตรา 15 แต่มีได้มีอาชีพเป็นครูตามมาตรา 14 (2)
เมื่อสมาชิกสมทบผู้ใดมีอาชีพเป็นครูตามมาตรา 14 (2) ให้สมาชิกนั้นเป็นสมาชิกสามัญหรือวิสามัญแล้วแต่กรณีและต้องแจ้งให้คุรุสภาทราบ
สมาชิกสมทบ คือ ผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะเป็นครูได้แต่ไม่ได้เป็นครูหรือผู้เคยเป็นสมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญ แต่พ้นจากการประกอบอาชีพครู ไม่มีสิทธิ์เป็นสมาชิกสามัญตามกฎหมาย ก็มีสิทธิ์สมัครเป็นสมาชิกต่อไป โดยเปลี่ยนประเภทมาเป็นสมาชิกสมทบ ซึ่งเป็นจำนวนน้อยเช่นกัน
โครงสร้างและการบริหารงานคุรุสภา
คุรุสภาเป็นสถาบันของผู้ประกอบอาชีพครู มีฐานะเป็นนิติบุคคล ปัจจุบันได้แบ่งเป็นการบริหารงานออกเป็น 3 ส่วนคือ
คุรุสภาระดับชาติ
คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา
ตามพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช 2488 คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ใช้อำนาจในการบริหารงานคุรุสภา คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธาน และเลขาธิการคุรุสภาเป็นกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการ นอกจากนี้ยังมีกรรมการโดยตำแหน่ง คืออธิบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานเทียบเท่ากรมในกระทรวงศึกษาธิการ และมีกรรมการผู้แทนครูซึ่งเลือกตั้งมาจากครูโดยตรงมีจำนวน 10 คน คือ ข้าราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ 4 คน ข้าราชการครูสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ไม่รวม สปช.) 2 คน ครูโรงเรียนเอกชน 2 คน ครูเทศบาลทั่วประเทศ 1 คน และครูสังกัดกรุงเทพมหานคร 1 คน กรรมการผู้แทนครูที่มาจากการเลือกตั้ง จะดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี
คุรุสภา มีสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ตามมติของคณะกรรมการอำนวยการและเป็นศูนย์กลางของการติดต่อประสานงานเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการอำนวยการ และมีเลขาธิการคุรุสภาเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ในสำนักงานโดยขึ้นตรงต่อประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
คุรุสภาส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น
คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา ได้จัดระบบการบริหารงานคุรุสภาในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการคุรุสภาส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นขึ้น เพื่อเป็นการกระจายอำนาจการบริหารงานให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมในการบริหารงานของคุรุสภา ดังนี้
คณะกรรมการคุรุสภาจังหวัด
ให้มีคณะกรรมการคุรุสภาจังหวัด จำนวนไม่เกิน 20 คน ประกอบด้วย ศึกษาธิการจังหวัด
ผู้อำนวยการการประถมศึกษาและผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัด เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และมีผู้แทนครูซึ่งเลือกตั้งมาจากครูทุกสังกัดในจังหวัดเป็นกรรมการ อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี แต่ละจังหวัดจะมีกรรมการจำนวนไม่เกิน 20 คน ตามสัดส่วนของจำนวนสมาชิกในจังหวัดนั้น ๆ คณะกรรมการระดับจังหวัดมีหน้าที่ควบคุม ดูแลและปฏิบัติหน้าที่ในด้านวิชาชีพและสวัสดิการครู ตามที่คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภามอบหมาย
นอกจากนี้คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา ได้แต่งตั้งให้ศึกษาธิการจังหวัดเป็นเจ้าหน้าที่คุรุสภาจังหวัดปฏิบัติงานในด้านธุรการและการประสานงานในส่วนจังหวัด โดยกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้งานของคุรุสภาเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งของศึกษาธิการจังหวัดและให้สำนักงานของศึกษาธิการจังหวัดเป็นสำนักงานคณะกรรมการคุรุสภาจังหวัดด้วย
คณะกรรมการคุรุสภาอำนวย
ประกอบด้วยศึกษาธิการอำเภอ และหัวหน้าการประถมศึกษาอำเภอหรือกิ่งอำเภอเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และมีผู้แทนครูซึ่งเลือกตั้งจากครูทุกสังกัดในอำเภอนั้น กรรมการอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี แต่ละอำเภอจะมีกรรมการไม่เกิน 15 คน ตามสัดส่วนของจำนวนสมาชิกในอำเภอนั้น ๆ คณะกรรมการคุรุสภาอำเภอมีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ในด้านวิชาชีพ และสวัสดิการครูตามที่คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภามอบหมาย
คุรุสภากรุงเทพมหานคร
คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา ได้จัดระบบการบริหารงานคุรุสภาในกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการคุรุสภาในส่วนต่าง ๆ ดังนั้น
1. คณะกรรมการคุรุสภากรุงเทพมหานครในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีทั้งหมด 10 คณะ
คือ คณะกรรมการคุรุสภา กรุงเทพมหานครใน
1) สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ
2) กรมสามัญศึกษา
3) กรมอาชีวศึกษา
4) สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ
5) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน
6) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
7) กรมศิลปากร
8) กรมการศึกษานอกโรงเรียน
9) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรมวิชาการ กรมการศาสนา กรมพล
ศึกษา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู และสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
10) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และองค์การค้าของคุรุสภา
คณะกรรมการคุรุสภากรุงเทพมหานครในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการแต่ละคณะประกอบด้วย ผู้อำนวยการกอง หัวหน้าหน่วยงานการศึกษา หรือหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ เลขานุการกรม นายกสมาคมหรืประธานสมาคมที่เกี่ยวกับครู เป็นกรรมการโดยตำแหน่งและมีผู้แทนสมาชิกในสถานศึกษาที่สังกัดอยู่ในแต่ละกรมเป็นกรรมการ สำหรับจำนวนคณะกรรมการในแต่ละคณะมีมากน้อยต่าง ๆ กัน เพราะสภาพของครูในแต่ละกรมต่างกัน ซึ่งจะดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี เท่ากันทุกคณะ
คณะกรรมการคุรุสภากรุงเทพมหานครในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่ควบคุมดูแล และปฏิบัติหน้าที่ในด้านวิชาชีพและสวัสดิการครูตามที่คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภามอบหมาย
2. คณะกรรมการคุรุสภากรุงเทพมหานครในสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร
ประกอบด้วยผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ผู้อำนวยการกองโรงเรียน เลขานุการสำนัก
การศึกษา ผู้อำนวยการคุรุสภาในสำนักการศึกษากรุงเทพมหานครเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้แทนศึกษาธิการเขต จำนวน 4 คน ผู้แทนสมาชิกคุรุสภาในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนจำนวน 7 คน และดำรงตำแหน่งครู อาจารย์ จำนวน 7 คน เป็นกรรมการ
3. คณะกรรมการคุรุสภาในสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร
ของกรุงเทพมหานครเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้แทนสมาชิกคุรุสภาในโรงเรียนสังกัดในสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร จำนวนไม่เกิน 8 คน เป็นกรรมการ
คณะกรรมการคุรุสภากรุงเทพมหานคร ตามข้อ 1, 2 และ 3 จะดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี เท่ากันทุกคณะ โดยมีหน้าที่ช่วยปฏิบัติงานสวัสดิการ บริการและพิทักษ์สิทธิครู เพื่อประโยชน์ของสมาชิกตลอดจนด้านมาตรฐานวิชาชีพครู วิชาการ ประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง วางแผนงานและปฏิบัติตามแผนงานนั้น
คณะกรรมการคุรุสภากรุงเทพมหานคร ตามข้อ 1, 2 และ 3 จะดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี เท่ากันทุกคณะ โดยมีหน้าที่ช่วยปฏิบัติงานสวัสดิการ บริการและพิทักษ์สิทธิครู เพื่อประโยชน์ของสมาชิกตลอดจนด้านมาตรฐานวิชาชีพครู วิชาการ ประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง วางแผนงานและปฏิบัติตามแผนงานนั้น
ศูนย์สมาคมวิชาชีพ
คุรุสภาได้อนุญาตให้กองมาตรฐานวิชาชีพครู จัดตั้งศูนย์สมาคมวิชาชีพครูขึ้นเมื่อเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2525 เรียกตัวย่อว่า ศ.ส.ว.ค. มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Center of Organizations of the teaching Profession ย่อว่า C.O.T.P ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของสมาชิกคุรุสภาทั่วประเทศ ตั้งอยู่ภายในบริเวณ คุรุสภา
2.1 วัตถุประสงค์ของศูนย์สมาคมวิชาชีพครู ศูนย์สมาคมวิชาชีพครูที่มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1)เพื่อเป็นศูนย์กลางสมาชิกคุรุสภาในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพครูด้วยกัน
2)เพื่อเผยแพร่เอกสาร ข่าวสารทางวิชาการแก่สมาชิก
3) เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างสมาคมชมรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครูทั้งในประเทศและต่างประเทศ
4)เพื่อเป็นผู้ประสานงานในโอกาสที่มีการประชุมสัมมนา
5) ศูนย์สมาคมวิชาชีพครูที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
2.2 สมาชิกของศูนย์วิชาชีพครู สมาชิกของศูนย์สมาคมวิชาชีพครูได้แก่ สมาคมและชมรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับวิชาชีพครูที่สมัครของเข้าเป็นสมาชิก
2.3 การปฏิบัติงานของศูนย์สมาคมวิชาชีพครู มีดังต่อไปนี้
1) ออกเอกสารของศูนย์ฯ จัดส่งให้สมาชิกเดือนละ 1 ฉบับ
2) พิจารณาคำขอความช่วยเหลือของสมาคมหรือชมรมต่างๆ
3) จัดกิจกรรมทางวิชาการเสนอหน่วยเหนือ ขออนุมัติเพื่อดำเนินการ
4) ติดต่อสมาคมวิชาชีพครูต่างประเทศเพื่อทราบความเคลื่อนไหวประมาณ 100 ประเทศ
สมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทย
สมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทย ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2498
3.1 วัตถุประสงค์ของสมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทย
1)เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้ทางการศึกษาในบรรดาสมาชิก
2) เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมความสามัคคีระหว่างสมาชิกและช่วยเหลือส่งเสริมวิชาชีพทางการศึกษา
3) ติดต่อร่วมมือกับสมาคม มูลนิธิ องค์การหรือสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ
4)ศึกษา ค้นคว้า และเผยแพร่ความรู้ทางการศึกษา
5)ระดมสรรพกำลังสนับสนุนพัฒนาการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษาของชาติ
6)ไม่เกี่ยวกับการเมือง
3.2 สถานที่ตั้ง สมาคมศึกษาแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ แระสานมิตร กรุงเทพมหานคร
3.3 คำบำรุงสมาชิก คำบำรุงสมาชิกเป็นรายปี ๆ ละ 100 บาท ชำระครั้งเดียวตลอดชีพ 500 บาท
สมาคมครูโรงเรียนราษฎร์แห่งประเทศไทย
สมาคมครูโรงเรียนราษฎร์แห่งประเทศไทย มีชื่อเรียก เป็นภาษาอังกฤษว่า Private school Techcher’ Association of Thailand ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2498 ตั้ง 136 ถนนประชาธิปไตย กรุงเทพมหานคร
4.1 วัตถุประสงค์ สมาคมครูโรงเรียนราษฎร์แห่งประเทศ มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1)ให้ความร่วมมือกับรัฐและกระทรวงศึกษาธิการในการจัดการศึกษาของชาติ
2)ผดุงเกียรติ ส่งเสริมฐานะและสถานภาพของครู โรงเรียนเอกชนในทางความรู้ ความประพฤติและความสามัคคี
3)ส่งเสริมและช่วยเหลือครูโรงเรียนเอกชนให้มีสวัสดิการและความมั่นคงในอาชีพ
4)ส่งเสริมการพัฒนาเยาวชน และประสานงานกับองค์การหรือสมาคมอื่นใด ที่มีวัตถุประสงค์ในทางการศึกษา
5)ส่งเสริมการพัฒนาการศึกษา การบริหารการศึกษา ศิลปวัฒนธรรมและการกุศล
6)ไม่เกี่ยวกับการเมือง
4.2 สมาชิกสมาคมครูโรงเรียนราษฎร์แห่งประเทศไทย มีสมาชิก 4 ประเภท คือ
1)สมาชิกสามัญ
2)สมาชิกวิสามัญ
3)สมาชิกกิตติมศักดิ์
4)สมาชิกสมทบ
4.3 ค่าบำรุง สมาชิกจะต้องชำระค่าบำรุงสมาชิกตลอดชีพ 180 บาท
สรุปท้ายบท
ครูหรือผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับการศึกษา สมควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันวิชาชีพครู อย่างน้อยที่สุดจะได้รู้ว่าองค์กรใดบ้างที่ดูแลช่วยเหลือ พิทักษ์ผลประโยชน์ของตนและวิชาชีพของตนอยู่ ทั้งนี้เพื่อความเชื่อมั่นในอาชีพ เพื่อความก้าวหน้าความมั่นคงทั้งส่วนตนและส่วนรวม สาระสำคัญที่ควรทราบได้แก่
คุรุสภา
ประวัติความเป็นมา
อำนาจหน้าที่
รายได้
สมาชิกคุรุสภาประเภทต่าง ๆ
โครงสร้างการบริหารงานของคุรุสภา
ศูนย์สมาคมวิชาชีพครู
สมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทย
สมาคมครูโรงเรียนราษฎร์แห่งประเทศไทย
คำถามท้ายบท
1.สถาบันวิชาชีพครูคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
2.ศูนย์สมาคมวิชาชีพครูจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์อย่างไรบ้าง
3.คุรุสภามีอำนาจหน้าที่อย่างไรบ้าง
4.สมาชิกคุรุสภามีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง
5.สมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทยมีองค์ประกอบและบทบาทหน้าที่อย่างไร
6.วัตถุประสงค์ของสมาคมครูโรงเรียนราษฎร์แห่งประเทศไทยมีอะไรบ้าง
หนังสืออ้างอิงประจำบท
ประสาท หลักศิลา. ปัญหาสังคม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ก้าวหน้า. 2515.
ยนต์ ชุ่มจิต. ความเป็นครู. กรุงเทพมหานคร : โอ. เอส. พริ้นติ้ง เฮาส์, 2539
ราชบัณฑิตยสถาน.พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525.
กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์, 2525.
Hoult,Thomas Ford.Dictionary of modern Sociology. ALittle Field :Adam & Co.,1972.